สิทธิที่ลูกเรือควรรู้: การเจ็บป่วยบนเรือและความคุ้มครองจากบริษัท

Tankiti Jumpakag

September 23,2024

การเจ็บป่วยของลูกเรือ: สิทธิและความคุ้มครองที่ควรรู้

เมื่อพูดถึงการเจ็บป่วยของลูกเรือในระหว่างที่ปฏิบัติงานบนเรือ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกเรือควรทราบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเจ็บป่วยในระหว่างสัญญาจ้าง ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองลูกเรือ เช่น อนุสัญญาแรงงานทางทะเล (MLC) ได้กำหนดให้บริษัทผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบในหลายด้านเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของลูกเรือ


สิทธิของลูกเรือเมื่อเกิดการการเจ็บป่วย

ตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเล (MLC) มาตรฐาน A4.2 ข้อ C

“shipowners shall be liable to defray the expense of medical care, including medical treatment and the supply of the necessary medicines and therapeutic appliances, and board and lodging away from home until the sick or injured seafarer has recovered, or until the sickness or incapacity has been declared of a permanent character”

บริษัทผู้ว่าจ้างมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของลูกเรือ ไม่ว่าลูกเรือจะรักษาตัวบนเรือหรือในโรงพยาบาลบนฝั่ง บริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา จนกว่าลูกเรือจะหายป่วยและกลับมาทำงานได้เป็นปกติ


การรักษาตัวหลังจากกลับบ้าน

สิ่งที่ลูกเรือหลายคนไม่ทราบคือ การคุ้มครองของอนุสัญญา MLC ยังคงมีผลบังคับใช้แม้ลูกเรือจะถูกส่งกลับบ้านเพื่อรักษาตัว บริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจนกว่าลูกเรือจะหายดี ทั้งนี้ลูกเรือมักเข้าใจว่าหลังจากถูกส่งตัวกลับบ้านแล้ว บริษัทจะไม่รับผิดชอบต่อการรักษาอีกต่อไป ทำให้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ค่าจ้างในระหว่างการรักษาพยาบาล

นอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้กับลูกเรือที่เจ็บป่วยในระหว่างสัญญาจ้าง จนกว่าลูกเรือจะหายดีหรือเป็นระยะเวลาสูงสุด 16 สัปดาห์ (ประมาณ 3 เดือน)ตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเล (MLC) มาตรฐาน A4.2 ข้อ 4

“National laws or regulations may limit the liability of the shipowner to pay wages in whole or in part in respect of a seafarer no longer on board to a period which shall not be less than 16 weeks from the day of the injury or the commencement of the sickness.”

โดยอาจจ่ายเฉพาะเงินเดือนพื้นฐานโดยไม่รวมค่าล่วงเวลา ซึ่งเป็นส่วนที่ลูกเรือควรรับทราบ


ปัญหาที่พบกับลูกเรือไทย

สำหรับลูกเรือไทย มีปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ เมื่อลูกเรือถูกส่งกลับบ้านหลังจากการเจ็บป่วยในเรือ พวกเขามักเข้าใจว่าเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทำให้ต้องรักษาตัวเองและไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มเติม ทั้งที่ตามจริงแล้วบริษัทต้องรับผิดชอบทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าจ้างบางส่วนจนกว่าลูกเรือจะหายดี ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงสิทธิที่ลูกเรือควรได้รับจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียสิทธิที่พึงได้รับ


สรุป

การเจ็บป่วยของลูกเรือในระหว่างสัญญาจ้างเป็นเรื่องที่บริษัทผู้ว่าจ้างต้องให้ความสำคัญอย่างสูงตามข้อบังคับและกฎหมาย ลูกเรือจึงควรทำความเข้าใจสิทธิของตนเองในกรณีที่เจ็บป่วย รวมถึงการคุ้มครองจากอนุสัญญาแรงงานทางทะเล เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าจ้างบางส่วนจนกว่าจะหายดี